พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ตรงกับปีชวด ขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้ศึกษาอักขระ สมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) แห่งวัดโมลีโลกยาราม และทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และวิชาการด้านต่าง ๆ จากชาวต่างประเทศ จนสามารถอ่าน เขียน พูด ภาษาอังกฤษได้อย่างดี เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้มีพระราชพิธีลงสรง (พ.ศ. 2355) เป็นครั้งแรกที่กระทำขั้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานพระนามจารึกในพระสุพรรณปัฎว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามกุฎ สมมุติเทววงศ์พงศ์อิสรค์กษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร” สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขี้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2394
ชาวต่างประเทศนิยมเรียกกันว่า
“คิงส์มงกุฎ”
เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าชายจุฑามณี โอรสพระองค์ที่ 50 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ขึ้นเป็น “สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงมีฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ทำให้ในสมัยนี้ มีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศพร้อมกัน 2 พระองค์ การทำนุบำรุงบ้านเมือง
๏ การปกครอง ในรัชกาลนี้ มีการประกาศให้เปลี่ยนแปลงประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ดังเดิม เช่น ปรับปรุงการเพณีการเข้าเฝ้า ให้เลิกการหมอบคลาน มาเป็นการนั่งเฝ้า และมีพระบรมราชโองการให้ทุกคน สวมเสื้อเข้าเฝ้า และโปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าได้อย่างใกล้ชิด และทรงให้เริ่มพิธีการตอนรับแบบฝรั่งด้วยการ จับมือสั่น (Shake hand) มาใช้ด้วย
๏ กฎหมาย มีกฎหมายที่ออกในรัชกาลนี้มาก มีทั้งกฎหมายอาญาหลวง และมีประกาศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน
๏ ศาล ยังมิได้มีการรวบรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน แต่ก็โปรดให้ตั้งศาลต่างประเทศ เพื่อพิจารณาคดีความระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศ และได้เกิดศาลกงสุลขึ้นเป็นครั้งแรก
๏ ด้านการทหาร โปรดเกล้าให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดูแลกิจการด้านการทหารทั้งหมด พระปิ่นเกล้าฯ ทรงโปรดให้มีการฝึกทหารแบบยุโรป โดยว่าจ้าง ร้อยเอกอิมเปย์ นายทหารนอกราชการชาวอังกฤษ จากประเทศอินเดียมาเป็นครูฝึกสอน และทรงจัดให้มีรูปแบบกองทหารแบบใหม่
๏ เริ่มมีการใช้ เรือกลไฟ ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2404
๏ ทรงเปลี่ยนธงชาติใหม่ จากรูปช้างอยู่กลางกงจักร โปรดให้เอากงจักรออก คงเหลือแต่เพียง รูปช้าง สีขาว อยู่บนผืนธงสีแดง แต่ยังเรียกชื่อเหมือนเดิมว่า “ธงช้างเผือก”
๏ ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อประเทศว่า “ประเทศสยาม” โดยใช้คำในภาษาอังกฤษว่า “Siam”
อังกฤษได้ส่ง เซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นทูตเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศไทย เรียกว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” เมื่อปี พ.ศ. 2396 มีใจความสำคัญว่า
1. พ่อค้าอังกฤษเข้ามาค้าขายได้โดยเสรี ไม่ต้องผ่านคนกลาง (กรมพระคลังสินค้า)
2. ไทยเก็บภาษีเป็นร้อยละของจำนวนสินค้าที่นำเข้า แทนการเก็บภาษีปากเรือ
3. ไทยให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต กับคนอังกฤษ
๏ การตัดถนนและขุดคลอง โปรดให้สร้างถนนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2404 คือ ถนนเจริญกรุง
๏ การขุดคลอง มีการขุดคลองหลายคลอง เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก
ด้านศาสนา
๏ พระราชกรณียกิจที่สำคัญในการบำรุงพระพุทธศาสนา คือ ทรงให้กำเนิดธรรมยุตินิกาย มีการสร้างพระอารามหลวงขึ้น 5 พระอาราม ได้แก่ วัดบวรนิเวศ วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดมกุฎกษัตริยาราม
๏ ทรงสร้าง พระสยามเทวาธิราช ขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำประเทศสยาม ลักษณะเป็นเทวรูปประทับยืน ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ ทำด้วยทองคำสูงประมาณ 8 นิ้วฟุต ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีเครื่องสังเวยเทวดา ในวันขึ้น 1 คำ เดือน 5 ของทุกปี ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระมหามณเฑียรออก และโปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระสยามเทวาธิราช ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มาจนทุกวันนี้ นับเป็นการเริ่มต้นนำเอาศาสนาพราหมณ์กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ได้นำมาปะปนผสมกลมกลืนกับศาสนาพุทธอย่างเหมาะสม
๏ ทรงเริ่มพิธีสงฆ์ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหรือ พิธีพืชมงคล ขึ้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ท้องสนามหลวง และสร้างหอพระสำหรับเป็นที่ไว้พระคันธาราษฎร์ ให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐปะพรมดิน นำหน้าพระยาแรกนา และมีนางเทพีสี่คนหาบกระเช้าข้าวโปรยด้วย
๏ ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง พระบรมบรรพต หรือ พระเจดีย์ภูเขาทอง ขึ้นตามพระราชดำริ โดยทำเป็นภูเขา และต่อพระเจดีย์ไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นถึงพระเจดีย์สองทาง ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ เป็นที่สักการะบูชาของปวงชนมาจนถึงทุกวันนี้
๏ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่จังหวัดอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านเป็นพระทรงคุณธรรมสูง สมถะ ไม่ปรารถนาลาภยศใด ๆ เป็นอริยสงฆ์ทรงคุณธรรมวิเศษชั้นสูง ในพระพุทธศาสนามีปฏิภาณเฉลียวฉลาด รอบรู้ในหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2415 แต่ชาวไทยยังคงเคารพเลื่อมใสท่านอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะ “พระพิมพ์สมเด็จฯ วัดระฆัง” ถือเป็นวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงและมีค่าสูงยิ่งในวงการพระเครื่องไทย
วรรณคดี และกวี
พระราชนิพนธ์ที่สำคัญในสมัยนี้ได้แก่
- ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
- บทระบำ
- บทละครเรื่องรามเกียรติ์
- บทเลิกโรงละครหลวง
- โคลงพระราชทานพร
- จารึกวัดราชประดิษฐ์
- ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย หมวดภาษา และวรรณคดี กวีในรัชสมัยนี้ เช่น พระยาอิศรานุภาพ หม่อมราโชทัย คุณสุวรรณ
ศิลปกรรม
สถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ จิตรกรรม มีปรากฏอยู่ในพระอุโบสถ และพระวิหารวัดบวรนิเวศประติมากรรม มีการหล่อพระพุทธรูป
๏ พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้นำวิชาการถ่ายรูปเข้ามาในประเทศเป็นคนแรก โดยได้รับโปรดเกล้าให้เป็นช่างถ่ายรูปหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การศึกษา
ได้โปรดว่าจ้าง แหม่ม แอนนา เลียวโนเวนส์ (Mrs. Anna Leonowens) จากประเทศสิงคโปร์ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชโอรส พระราชธิดา ด้วยทรงโปรดให้แหม่มแอนนา เข้าไปอยู่กินภายในวังหลวงได้ ต่อมาแหม่นแอนนา ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “King & I” ได้ส่งไปตีพิมพ์ที่อังกฤษ และเป็นที่นิยมชมชอบมากในสมัยนั้น จนได้มีการนำไปแสดงเป็นละครเล่นกัน โดยใช้ชื่อว่า “King of Siam”
การทูต
หม่อมราโชทัย
(ม.ร.ว.กระต่าย อิสรางกูร)
พ.ศ. 2400 พระองค์ทรงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เป็นอัครราชทูต อัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ ประเทศอังกฤษ ในการเดินทางครั้งนี้มี หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิสรางกูร) เป็นล่ามของคณะฑูต และหม่อมราโชทัยได้เขียนหนังสือเรื่อง “นิราศลอนดอน” ขึ้น และได้ขายกรรมสิทธิ์การพิมพ์ให้กับหมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการขายลิขสิทธิ์ในประเทศไทย
๏ ไทยเสียเขมร ต่อมาฝรั่งเศสได้ยึดครองญวน (เวียดนาม) ได้แล้ว ก็เข้ามาบังคับเอาเขมรจากไทย โดยอ้างว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวนมาก่อน ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสยึดญวนได้ก็ต้องได้ครอบครองเขมรด้วย สมเด็จพระนโรดม กษัตริย์เขมรขณะนั้น ยินยอมทำสัญญายอมเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 และได้ส่งหนังสือมากราบบังคมทูลว่า "ที่ยอมฝรั่งเศสนั้น เพราะถูกเขาบังคับ และต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ไทยได้ลงนามในสมธิสัญญายกเขมรให้ฝรั่งเศส"
๏ มีการการก่อตั้งบริษัททางการค้าขึ้นเป็นครั้งแรก คือ บริษัทบริทิช บอร์เนียว ได้ทำการขอสัมปทานการทำไม้ในภาคเหนือของไทย เมื่อ พ.ศ. 2407 เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ
ด้านการคลัง
๏ ทรงตั้ง โรงกระษาปณ์สิทธิการ ขึ้น เพื่อผลิตเงินเหรียญขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2403 เหรียญกษาปณ์ หรือ เงินแป ที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก มีเหรียญบาท สองสลึง และหนึ่งเฟื้อง และโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญดีบุกใช้แทนเบี้ยหรือหอย เรียกว่า “เหรียญอัฐ กับ เหรียญโสฬส ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2406 และผลิตเหรียญทองคำ เรียกว่า เหรียญทศ เหรียญพิศ เหรียญพัดดึงส์ และผลิตเหรียญทองแดง 2 ชนิด เรียกว่า “เหรียญซีก และ เหรียญเสี้ยว”
เสด็จสวรรคต
พ.ศ. 2411 พระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรรีขันธ์ ตามที่พระองค์ทรงทำนายไว้ ว่าจะมีการเกิดสุริยุปราคา ขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ. 2411 และจะมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดที่ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังกลับจากเสด็จที่หว้ากอ พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ปัจจุบันทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวิชาดาราศาสตร์ไทย”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“บิดาแห่งวิชาดาราศาสตร์ไทย”