ความเป็นมาของคำว่า “ถนนพิบูลสงคราม” ที่เกี่ยวข้องกับ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือเรียกย่อว่า มจพ. ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในเขตบางซื่อ (เขตบางซื่อแยกออกมาจากเขตดุสิตเมื่อ พ.ศ. 2532) มจพ. ตั้งอยู่ริมถนนพิบูลสงครามด้านขวามือไปตามเส้นทางเข้าสู่จังหวัดนนทบุรี สำหรับฝั่งตรงข้ามของ มจพ. ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งด้านหลังอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (แต่ก่อนมีชื่อว่าโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501) ถนนพิบูลสงคราม ตั้งต้นตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 (เป็นบริเวณเดียวกับสะพานพระราม 7) จะมีสถานศึกษาที่สำคัญคือ 2 สถานศึกษาข้างต้น อยู่ในเขตบางซื่อ กทม. เมื่อถนนนี้ข้ามสะพานคลองบางเขนที่จะไปสู่อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ด้านซ้ายมือจะผ่านวัดปากน้ำ จ.นนทบุรี โรงเรียนสตรีนนทบุรี วัดเขมาภิรตาราม และโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามตามลำดับ

  ก่อนเข้าสู่จังหวัดนนทบุรีโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามเป็นโรงเรียนที่สร้างปูชนียบุคคลท่านหนึ่งคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และเป็นโรงเรียนในละแวกบ้าน เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน จากนั้นเข้าเป็นนักเรียนทำการนายร้อยทหารบก ต่อมาสำเร็จการศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส และในปี พ.ศ. 2471 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2484 เป็นจอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ พ.ศ. 2481 เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 (และต่อมาเป็นอีกใน พ.ศ. 2492, 2494, 2495 และ 2500)

  เนื่องจากท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้สร้างสรรค์ พัฒนาประเทศไทยให้มีอารยธรรมทัดเทียมกับอารยประเทศทั้งหลายอย่างกว้างขวางในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ของราษฎร ฯลฯ

  การตั้งชื่อถนนและสะพานทั่วราชอาณาจักรอยู่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2487 “....สั่งคมนาคมว่ามีความประสงค์จะตั้งชื่อสะพานและถนนทั่วราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้มีชื่อ ฉะนั้นให้ส่งบัญชีว่ามีถนนกับสะพานใดบ้าง ซึ่งจะขอตั้งชื่อและแจ้งมาด้วยว่าถนนและสะพานนั้นใครเป็นคนอำนวยการสร้าง ในท้องถิ่นนั้นมีประวัติดีอะไรบ้างที่ควรให้เป็นชื่อถนนและสะพาน... (อาทิ ถนนสุขุมวิท ตั้งชื่อตามอธิบดีกรมทางสมัยนั้น คือ พระพิศาลสุขุมวิท และสะพานโพธิ์แก้ว ตามนามสกุลผู้แทนราษฎร นายปฐม โพธิ์แก้ว เป็นต้น)

 


 

  กรมทางมีกำเนิดมาจากกองทาง กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2484 กองทางยกฐานะเป็นกรมทาง กระทรวงคมนาคม ความรับผิดชอบของกรมทางขณะนั้นรับผิดชอบเรื่องถนนนอกเขตเทศบาล (รวมทั้งทางหลวงจังหวัดด้วย) การตั้งชื่อถนนกับสะพานเป็นการพิจารณาดำเนินการของกรมทาง (กรมทาง, กรมทางหลวงแผ่นดินและกรมทางหลวง เป็นชื่อของสถานที่เดียวกัน) และชื่อของถนนพิบูลสงคราม ควรจะมีขึ้นไม่เกิน พ.ศ 2484 โดยกรมทางเป็นผู้ดำเนินการทำถนน สามารถยืนยันได้ว่าก่อน พ.ศ. 2512 หลักเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ อยู่ที่ก่อนถึงทางรถไฟสถานีบางซ่อน ตามแนวทางรถไฟ ถนนพิบูลสงคราม ผ่านโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม อันเป็นโรงเรียนที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นศิษย์เก่า เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี

  จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อเยาว์วัยมีชื่อว่าแปลก ขีตตะสังคะ ต่อมา พ.ศ. 2471 มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงคราม ยศพันตรี เมื่อ พ.ศ. 2484 ท่านมียศเป็นจอมพล และระหว่าง พ.ศ.2481 - พ.ศ. 2487 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 และให้นโยบายการตั้งชื่อของหญิงและชาย “....ฉันเห็นว่าการตั้งชื่อซึ่งได้สั่งให้เป็นประกาศสำนักนายกฯ ยังเห็นควรให้ปรับปรุงใหม่เพราะบางชื่อควรเป็นหญิงก็เป็นชาย บางชื่อชายก็เป็นหญิง...” คำที่ใช้ชื่อบุคคลควรชื่อหนึ่งให้มี 3 พยางค์เป็นอย่างมาก คำที่ควรใช้ตั้งชื่อบุคคลควรเป็นคำไทยสามัญ เช่น เข็ม เงิน เป็นศัพท์สามัญ เช่น จินดา ชัย เดช และเป็นคำที่รวบรวมไว้ในพจนานุกรม มีการกำหนดให้ใช้ชื่อรอง และวิธีใช้อักษรย่อชื่อ ถ้าไม่ประสงค์จะเขียนชื่อเต็ม จะเขียนชื่อย่อก็ได้ เช่น นายสิน นพกุล เขียนว่า นาย ส.นพกุล เพื่อมิให้ชื่อพ้องกันจะมีชื่อรองถัดจากชื่อตัวอีกก็ได้ โดยผู้ที่บวชแล้วจะใช้ชื่อพระ(ฉายา) เป็นชื่อรองก็ได้ หรือคิดตั้งชื่อตามหลักชื่อบุคคลก็ได้ ส่วนผู้ที่ออกจากบรรดาศักดิ์จะให้ราชทินนาม หรือนามสกุลเดิมเป็นชื่อรองก็ได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จอมพลแปลก ขีตตะสังคะ พิบูลสงคราม มาเป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยใช้ ป. เป็นชื่อย่อและตัดชื่อรองนามสกุลเดิมขีตตะสังคะออกไป และให้พิบูลสงครามเป็นนามสกุล กระทรวงคมนาคมโดยกรมทาง ขณะนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าชื่อถนน พิบูลสงคราม นามสกุลใหม่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งผ่านโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามและเป็นโรงเรียนในละแวกบ้าน เป็นชื่อเหมาะสมเพื่อเชิดชูโรงเรียนที่มีศิษย์เก่าที่มีคุณูประการต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ถนนพิบูลสงครามจึงเกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกเปลี่ยนชื่อไปบางช่วงเวลา แต่ก็ยังเปลี่ยนกลับมาใช้ดังเดิมจนกระทั่งบัดนี้


ผู้เรียบเรียง :
  รศ.ดร. วิทยา วิภาวิวัฒน์ / อาจารย์รณัชย์ ศิริโชติ / จตุพร คีมนารักษ์ / จามีกร อุ่นประเสริฐ

แหล่งที่มา :
  1. ม.ล.พร้อมศรี พิบูลสงคราม.จอมพล ป. พิบูลสงครามประวัติและผลงาน.มป.ท,ม.ป.ป.
  2. มูลนิธิจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครบรอบศตวรรษ 14 กรกฏาคม 2540.กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, 2540.
  3. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.อ. (พิเศษ) เพิ่ม ปวิตตสิริ.