สะพานพระราม 6

  สะพานพระราม 6 เป็นสะพานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยเหตุที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศ เป็นสะพานใช้สำหรับเดินรถไฟและรถยนต์ เชิงสะพานด้านหนึ่งตั้งอยู่ในเขตดุสิต อีกด้านหนึ่งตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย เชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์ ฝั่งธนบุรี กับถนนพิบูลสงคราม ฝั่งพระนคร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยมีพระราชดำริเห็นควรเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อกัน เพื่อให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทางรถไฟไม่ต้องถ่ายทอดขึ้นรถและลงเรือให้เป็นการเสียเวลา

 


 

 

  สะพานนี้ สร้างขึ้นในตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โดย นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรถไฟหลวง เป็นผู้ดำเนินการสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 และได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดิน ณ บริเวณก่อสร้างสะพาน เชิงสะพานด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณวัดสร้อยทอง และเชิงสะพานด้านทิศตะวันตกอยู่บริเวณวัดวิมุตติยาราม (เดิมเรียกวัดละมุด) โดยมีบริษัท Les Etablisse-ments Dayde และโรงงานแห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในราคา 2,714,113.30 บาท

  การก่อสร้างสะพานสร้างขึ้นตามแบบ Cantilever ประกอบด้วย สะพานเหล็ก 5 ช่อง ส่วนหนึ่งเป็นทางหลวงให้ยวดยานทุกชนิดผ่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟมีบาทวิถีสองข้างสะพาน น้ำหนักเหล็กที่จะต้องใช้ในการประกอบเป็นสะพานประมาณ 2,631 เมตริกตัน การทำฐานรากตอม่อกลางน้ำ ก่อด้วยวิธีใช้อากาศอัดลึกจากระดับน้ำทะเล 27 เมตร และมีการคำนวณตัวสะพานให้สูงจากระดับน้ำทะเลสูงสุดถึง 8 เมตร ทำให้เรือขนาดธรรมดาสามารถลอดผ่านไปมาได้ รายละเอียดในการก่อสร้างสะพานพระราม 6 มีดังนี้

ช่องทางจราจร 4 Lane
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 10 เมตร
ความกว้างของสะพาน 10 เมตร
ทางเดินเท้าด้านละ 1.50 เมตร
ความยาวของสะพาน 443.60 เมตร

  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทำนุบำรุงการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟให้เชื่อมต่อกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ คือ ราม 6 ประดิษฐานเหนือสะพานและพระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า สะพานพระราม 6 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีเปิดสะพานแห่งนี้ว่า สะพานพระราม 6 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2469 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

  ในพิธีเปิดสะพานนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนขบวนรถไฟพิเศษที่สถานีรถไฟจิตรลดา ขบวนรถไฟพระที่นั่งออกจากสถานีไปตามทางสายเหนือถึงบริเวณสะพานแล้วหยุดรถพระที่นั่งเสด็จเข้าสู่พลับพลาที่จัดไว้เพื่อประกอบพระราชพิธี เมื่อนายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการรถไฟหลวง ถวายรายงานในการเปิดสะพาน กราบบังคมทูลพระกรุณา แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัสตอบ ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์จึงเสด็จประทับขบวนรถไฟไปยังฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปฐมฤกษ์เมื่อถึงชุมทางรถไฟที่สถานีตลิ่งชันแล้วแล่นกลับไปยังสถานีธนบุรี เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีแล้ว เสด็จลงและเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระราชฐานเป็นเสร็จพระราชพิธี

 

  ในคืนวันที่ 1 มกราคม 2469 นั้นเองขบวนรถด่วนสายใต้ เป็นรถไฟสายแรกที่วิ่งข้ามสะพานจากฟากธนบุรี จนถึงสถานีหัวลำโพง การเชื่อมทางรถไฟสายตะวันตกกับตะวันออกจึงเริ่มแต่นั้นมา

 

  สะพานพระราม 6 ได้อำนวยประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในด้านการขนส่ง โดยเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และหัวเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2488 ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายอย่างหนักจนใช้การไม่ได้ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) จึงได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่ใน ปีพุทธศักราช 2493 โดยว่าจ้างบริษัทคลีฟแอนด์บริดจ์แอนด์เอนจิเนียริ่งจำกัด แห่งประเทศอังกฤษดำเนินการ สิ้นเงิน 25,561,312.76 บาท แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2496

  รูปลักษณะของสะพานพระราช 6 ที่ซ่อมสร้างใหม่ แตกต่างจากของเดิมไปหลายประการ สะพานใหม่ดัดแปลงมาจากรูปวอร์เรน (Warren Type with Post & Hangers) บนสะพานมีทางรถไฟ 1 สาย ทางหลวงทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 สาย ทางคนเดินปูด้วยไม้ 2 ทาง อยู่นอกโครงสะพานด้านเหนือน้ำ และด้านใต้ข้างละทาง

  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานพระราม 6 ที่ซ่อมเสร็จ เพื่อใช้เป็นเส้นทางจราจรต่อไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช (ร.9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานพระราม 6 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2496 ตามหมายกำหนดการที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

  "...นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับสนองพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า กระทรวงคมนาคม ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ดำเนินการซ่อมสร้างสะพานพระราม 6 เสร็จแล้ว ขอพระราชทางเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเพื่อใช้เป็นทางจราจรสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดรายการดังต่อไปนี้

  วันที่ 12 ธันวาคม 2496 เวลา 13 นาฬิกา 40 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับรถไฟพระที่นั่งสถานีจิตรลดา แล้วขบวนรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนไปสู่สะพานพระราม 6 หยุดที่เชิงสะพานฝั่งพระนคร เสด็จพระราชดำเนินลงจากรถไฟพระที่นั่งเข้าสู่พลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานการซ่อมสร้างสะพานพระราม 6 จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินลงจากรถไฟพระที่นั่งข้ามสะพานพระราม 6 ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์แตร และดุริยางค์ ขบวนรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนไปสู่สถานีธนบุรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ กลับพระราชวังดุสิต..."

แหล่งที่มา :
  1. กรมศิลปากร.กองจดหมายเหตุแห่งชาติ.จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : 2525.
  2. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.พระมหากษัตริย์กับวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีไทย.กรุงเทพฯ : 2539.
  3. อรุณ เรืองสุวรรณ ผู้เรียบเรียง.“ สะพานพระราม 6 สะพานแรกที่สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างมา 80 ปีแล้ว ” โพสต์ทูเดย์ 31,039 (11 ธันวาคม 2548) : B 6.